กาญจนบุรี ถือเป็นจังหวัดที่เรียกได้ว่ามีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ ในช่วงงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควที่จัดขึ้นทุกช่วงปลายปี เลยอยากจะมาพูดถึงสถานที่ที่เกียวข้องในประวัติศาสตร์ “เส้นทางรถไฟสายมรณะ”
เกริ่นนำ
ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเราได้อยู่ท่ามกลางสภาวะสงคราม โดยทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่นซึ่งเป็นสัมพันธมิตรกับทางฝั่งเยอรมนี เรียกง่าย ๆ ว่า “มหาสงครามเอเชียบูรพา” โดยกองทหารของญี่ปุ่นขอความร่วมมือกับรัฐบาลไทย เพื่อขอเดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตีพม่าและมลายูของอังกฤษ และขอให้ระงับการต่อต้านของคนไทย คณะรัฐมนตรีโดยมีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อนุโลมตามความต้องการของญี่ปุ่น เพื่อรักษาชีวิตและเลือดเนื้อ ของคนไทย (แต่ก็ไม่ใช่จะสูญเสีย)
ผลกระทบของสงครามกระจายไปทั่วประเทศ แต่สถานที่สำคัญที่เรียกเป็นจุดยุทธศาสตร์คือ ทางรถไฟสายตะวันตก เริ่มจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองทันบูซายัด มีความยาวจากรวม 415 กิโลเมตร
โดยใช้แรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้าง (บางคนโดนจับและเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อเอามาใช้แรงงานในการสร้างทางรถไฟ)
ช่องเขาขาด (Hellfire pass)
เริ่มจากสถานที่ ที่คิดว่าเป็นจุดที่เรียกว่า “โหดที่สุด” ในสงครามครั้งนี้แล้ว…
“ช่องเขาขาด” หรือ “Hellfire Pass” เป็นจุดที่ทางทหารญี่ปุ่นให้เชลยศึกทำการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อไปที่พม่า ด้วยวิธีการ “สกัดภูเขา” เพื่อวางรางรถไฟ โดยใช้แรงงานเชลยศึก ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน หรือชาวตะวันตกหลายเชื้อชาติ รวมไปถึงชาวไทยบางส่วนด้วย ด้วยเครื่องมือที่ดูแล้วไม่น่าจะทำได้ ไหนจะสภาพแวดล้อมที่เป็นป่ารกชัก ยากต่อการก่อสร้าง และโรคภัยไข้เจ็บในธรรมชาติ
เราเริ่มต้นด้วยการเข้าไปดูในตัวพิพิธภัณฑ์กันก่อนที่จะเดินไปดูของจริง เพื่อจะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ถ้าดูจากภาพจำลองจะเห็นทางรถไฟเป็นแนวยาวตลอดทิวเขา ไปจนถึงสถานีหินตก โดยจะคำอธิบายเป็นจุด ๆ

ภาพจำลองเส้นทางในการก่อสร้างทางรถไฟ

เครื่องมือที่ใช้สำหรับการ ขุดเจาะช่องเขา เพื่อสร้างทางรถไฟ

ส่วนหนึ่งที่เป็นของใช้ของเชลยศึก ที่หลงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์
เชลยศึกต้องก่อสร้างทางรถไฟ แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน อาหารก็เรียกได้ว่า “ไม่พอยาไส้” และยังต้องทำงานเกือบตลอดเวลา ตลอดทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้เส้นทางเสร็จตามกำหนด ช่องเขาขาด หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ช่องไฟนรก” (Hellfire Pass) ชื่อนี้ได้มาจากการที่ เหล่าเชลยที่ทำงานในเวลากลางคืน ต้องจุดคบไฟและก่อกองไฟเวลาทำงาน เมื่อแสงไฟสะท้อนเงาผู้คน ทำให้เห็นเป็นแสงเงาวูบวาบราวกับกับเปลวเพลิงแห่งนรกนั่นเอง

อาหารเชลยศึก ที่ได้รับใน 1 มื้อ
ภายในพิพิธภัณฑ์ จะทำเป็นเส้นทางให้เดินชมเป็นจุด ๆ และในจุดที่ไม่อยากให้พลาดคือ ห้องฉายหนังที่จะมี หนังที่ถ่ายจากสถานการณ์จริง ในตอนที่ก่อสร้าง เป็นช่วงสั้น ๆ แต่ทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพชัดขึ้นถึงสภาพความลำบากในตอนนั้น

ห้องฉายหนังภายในพิพิธภัณฑ์ ช่องเขาขาด ที่จะบอกเล่าเรื่องราวจากภาพจริง ๆ ในช่วงนั้น
เมื่อออกจากพิพิธภัณฑ์แล้ว ให้เดินลงไปด้านล่าง เพื่อไปดูสถานที่จริงที่ ยังมีร่องรอยของการก่อสร้างทางรถไฟจริง ๆ ซึ่งต้องบอกว่า พิพิธภัณฑ์สถานแห่งนี้ ได้รับการออกแบบและก่อสร้างอย่างสวยงาม โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลีย โดยในช่วงต้นทางทำเป็นทางเดินไม้ที่เดินได้ง่ายมาก ไปจนถึงด้านล่างในระดับเดียวกับทางรถไฟ
สภาพทางเดินในเส้นทางที่จะเดินไปตรงบริเวณที่เรียกว่า “ช่องเขาขาด” ร่มรื่นด้วยต้นไม้สูง เดินไม่ร้อน แต่ในสมัยก่อน ในบริเวณนี้คือป่ารก เส้นทางที่เราเดินกันอยู่ ถูกทำขึ้นมาด้วยแรงงานเชลยศึกทั้งนั้น

สภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น ในเส้นทางเดียวกับทางรถไฟ ในสมัยก่อน ตรงนี้ถือเป็นป่ารก
ในช่วงแรก เราอาจจะมองเห็นยังไม่ชดเท่าไหร่ แต่เส้นทางที่เราเดินอยู่ มันคือรางรถไฟเก่า จนเดินไปสักพักนึงนี่แหล่ะ ถึงจะเจอร่องรอยของทางรถไฟ เห็นซากไม้หมอน เป็นระยะ ๆ คาดว่าเส้นทางที่ทำไม่กว้างมากนัก เพราะใช้เป็นเส้นทางสำหรับลำเลียงยุทโธปกรณ์เท่านั้น

ไม้หมอนรถไฟ ที่ยังเป็นของเดิม ที่ใช้ในการก่อสร้างทาง ยังมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ ๆ
พอเริ่มเข้าถึงช่วงที่เจาะภูเขาก็จะเห็นรางรถไฟที่ยังเหลือไว้ให้ดู ทำให้เห็นถึงเส้นทางที่สร้างกันในช่วงนั้น ตรงปากทางมีธงของประเทศที่เป็นเชลยศึกติดไว้พร้อมกับสิ่งของที่แสดงถึงการไว้อาลัยให้กับเชลยศึกที่เสียชีวิตในการก่อสร้างทางรถไฟนี้
ให้ดูความสูงของผนังที่เกิดจากการขุดภูเขา จะเห็นได้ว่าสูงมาก หินไม่รู้กี่ตันต่อกี่ตัน ที่ต้องขุดเจาะเอาออกไป ด้วยเครื่องมือและแรงงานเชลยศึกสัมพันธมิตร
เมื่อเดินมาได้ระยะนึง จะเห็นกับต้นไม้ที่ดูแปลกตา ไม่แน่ใจว่าเป็นต้นอะไร แต่ลำต้นจะตั้งตรง และชูยอดสูงเหนือช่องเขาไปอีกเยอะมาก เทียบกับตัวเราแล้วต้นใหญ่มาก
ระยะทางของช่องเขาที่เราเรียกว่า “ช่องเขาขาด” นี้ระยะทางไม่ยาวมาก ประมาณไม่กี่ร้อยเมตร ในส่วนปลายทางจะมีแผ่นป้ายที่บอกถึงเรื่องราวความเป็นมา แต่ที่สะเทือนใจมากคือ รูปถ่ายที่มีคนเอามาวางไว้ ไม่รู้ที่มาที่ไป แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นคู่รักหรือเปล่า อาจจะเป็นเพราะสงครามที่ทำให้พลัดพรากกัน เมื่อถึงวาระสุดท้าย อาจจะทำได้แค่นำรูปมาคู่กัน (ตรงนี้สะเทือนใจมากครับ)
เมื่อเดินถึงสุดทางเดินจะเป็นแท่นสลักหิน เป็นอนุสาวรีย์แห่งความทรงจำที่สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของออสเตรเลียกับไทย และหลังจากจุดนี้สามารถเดินต่อไปถึงถึงสถานีหินตกได้ แต่ต้องใช้เวลาทั้งหมดรวม 4 ชม. ครึ่งเลยทีเดียว
ข้อมูลเพิ่มเติม ในวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน Anzac Day (Australian and New Zealand Army Corps) หรือวันอนุสรณ์ทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ มีการจัดพิธีกรรมรำลึกถึงเหล่าทหารที่เสียชีวิตในสงคราม
เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงความสูญเสียจากสงคราม ผู้เข้ามชมควรมีความสำรวมในการเข้าชม ไม่เอะอะเสียงดัง ล้อเลียน หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นสถานที่และบริเวณที่เป็นอนุสรณ์สถานสำหรับผู้ล่วงลับ
ช่องเขาขาด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ (Hellfire pass)
ภายในกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี 71150
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาทำการ : 09.00 – 16.00
เบอร์โทร : + 668 1733 0328, + 66 3491 9605
แผนที่ : https://goo.gl/maps/TMHff3EDxxr
ทางรถไฟสายมรณะ (ถ้ำกระแซ)
เมื่อวิ่งย้อนลงมาจากช่องเขาขาดประมาณ 40 กิโลเมตร จะถึงบริเวณที่เราเรียกว่า “สถานีรถไฟ ถ้ำกระแซ” ตรงจุดนี้จะเป็นสถานีรถไฟ ที่เราสามารถเดินไปชมเส้นทางรถไฟ ที่สร้างเลียบหน้าผาเลาะแม้น้ำแควน้อย เป็นจุดที่เรียกว่าสวยที่สุด และอันตรายที่สุดของทางรถไฟสายมรณะอีกด้วย
ที่เรียกว่า “ถ้ำกระแซ” เพราะจริง ๆ แล้วตรงริมหน้าผาด้านนึง จะมีถ้ำเป็นเวิ้งใหญ่อยู่ด้านนึง ซึ่งถ้ำนี้เคยเป็นที่พักของเชลยศึก ในปัจจุบันด้านในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่

ภายในถ้ำมีทางเข้าออกทางเดียว อาจจะมีควันธูปเยอะ ระมัดระวังกันด้วย
ตัวฐานของรางรถไฟนี้ ที่เราเห็นในภาพที่เป็นไม้หมอนเป็นท่อน ๆ และรางเหล็กที่พาดบนรางเหล่านั้น เป็นสิ่งก่อสร้างที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มสร้างสะพาน ที่ใช้แรงงานของเชลยศึกสร้างขึ้นมาดูจากไม้ท่อนใหญ่มาก ต้องใช้แรงงานขนาดไหน ถึงจะสร้างสะพานได้ขนาดนี้ รางรถไฟของเดิม ถูกรื้อโดยรัฐบาลอังกฤษไปบางส่วนในช่วงที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม แต่ทางรัฐบาลไทยของซื้อคืนกลับมาและบูรณะเพื่อให้ใช้งานได้ แต่ก็ถึงสถานีน้ำตกเท่านั้น
ตัวเส้นทางรถไฟเอง แต่เดิมไม่ได้มีแผ่นเหล็กตรงกลางขึ้นมาตั้งแต่แรก แต่มีการติดตั้งเอาไว้เพื่อจะได้ใช้เดินได้สะดวก (แต่ต้องระวังให้ดี สะดุดน็อตตัวใหญ่ ที่โผล่ขึ้นมาหล่ะก็เจ็บไม่น้อยแน่ ๆ) ที่ว่าเป็นทางรถไฟที่เป็นจุดที่สวยที่สุดนั้นก็คงน่าจะจริง เพราะเป็นเหมือนจุดชมวิวริมแม่น้ำแควน้อย ที่อยู่ในโค้งที่สวย มองเห็นแพที่พักที่อยู่อีกฝั่งได้อย่างชัดเจน แต่ที่ว่าอันตรายก็คือเนื่องจากความสูงระหว่างรางกับพื้นด้านล่างนั้นพอ ๆ กับตึก 3-4 ชั้นเลยทีเดียว และทางรถไฟสายนี้ ก็ยังมีรถไฟวิ่งให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ตามปรกติ เพราะฉะนั้น จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ในการเดิน
ทางรถไฟสายมรณะ (ถ้ำกระแซ)
จากทางหลวงสาย 323 เลี้ยงเขาสู่ถนนสาย 3343 จนสุดทางจะเจอ 3 แยก แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนสาย 3344 ไปที่สถานีรถไฟถ้ำกระแซ
จอดรถที่ลานจอดรถ ด้านหน้า สถานีรถไฟถ้ำกระแซ และเดินจากสถานีไปตามรางรถไฟ
แผนที่ : https://goo.gl/maps/8MUygSC4HDE2
สะพานข้ามแม่น้ำแคว
ใครมาที่กาญจนบุรีแล้ว ไม่มาที่นี่ถือว่ามาไม่ถึงก็ว่าได้ “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทีถือว่าเป็น Landmark ของจังหวัด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานนี้มีความสำคัญ เป็นสะพานที่ใช้ลำเลียงยุทโธปกรณ์ในการสร้างทางรถไฟสายนี้ โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร รวมไปถึงกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดีย อีกจำนวนมากมาสร้างทางรถไฟสายนี้
จากที่ได้พูดคุยกับคนจังหวัดกาญจน์จริง ๆ ทราบมาว่าสะพานข้ามแม่น้ำแควจริง ๆ มีอยู่ 2 สะพาน แต่โดยทิ้งระเบิดจนเสียหายไปตั้งแต่สมัยสงครามแล้ว แต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางรัฐบาลไทยก็ทำการซ่อมแซมจนใช้งานได้ ในปัจจุบัน สะพานนี้ยังคงใช้งานอยู่ตามปรกติ โดยจะใช้เป็นเส้นทางเดินรถไฟจากสถานี กรุงเทพฯ – กาญจนบุรี – น้ำตก
และถ้าใครอยากจะมาถ่ายรูปรถไฟ คู่กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว อย่างในรูป แบบคนน้อย ๆ ให้มาแต่เช้านะครับ จะมีขบวนรถไฟวิ่งผ่าน มาจากสถานีหนองปลาดุก วิ่งข้ามสะพานในเวลา 6:05 น. (ตรงเวลาซะด้วยนะ) และจะวิ่งกลับมาจากสถานีน้ำตก ข้ามกลับมาในเวลา 7:12 น.
สะพานข้ามแม่น้ำแคว (Death Railway)
ตั้งอยู่ที่ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี จากถนนแสงชูโต วิ่งเข้าถนนแควใหญ่ ตัวสะพานจะอยู่ปลายถนน สามารถจอดรถได้ริมถนน หรือใช้บริการที่จอดรถในบริเวณนั้นก็ได้
แผนที่ : https://goo.gl/maps/Mot8dW4GHh12
สุสานทหารสัมพันธมิตร – ดอนรัก (Kanchanaburi War Cemetery)
จุดสุดท้ายที่เป็นบทสรุปของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่บรรจุศพของเชลยศึกที่เสียชีวิตในการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ มีเนื้อที่กว่า 17 ไร่ โดยมีศพของเชลยศึกสัมพันธมิตรกว่า 7,000 ศพ ถูกฝังอยู่ในบริเวณนี้ สุสานนี้ตั้งอยู่ริมถนนแสงชูโต ไปไม่ยาก จอดรถที่ริมถนนได้เลย
เมื่อก้าวเข้ามาถึงภายในสุสานจะพบเจอกับความสงบ เป็นระเบียบและสวยงาม ถือว่าเป็นการให้ความเคารพผู้ที่ฝังร่างอยู่ที่นี่เป็นอย่างสูง
หลุมฝังศพมีจำนวนมากในแต่ละแถว โดยจะแบ่งเป็นโซนของแต่ละประเทศ มีทั้งอังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ เหนือหลุมฝังศพทุกหลุมมีแผ่นทองเหลืองจารึก ชื่อ อายุ และประเทศของผู้เสียชีวิต
ข้อควรปฏิบัติของการมาเยี่ยมชมสถานที่ในลักษณะนี้คือ เยี่ยมชมด้วยความสำรวม เพื่อเป็นการให้เกียรติกับเชลยศึกทั้งหลายที่ฝังร่างอยู่ที่นี่
สุสานทหารสัมพันธมิตร ดอนรัก (Kanchanaburi War Cemetery)
ตั้งอยู่ที่ริมถนนแสงชูโต อ. เมือง จ. กาญจนบุรี
เวลาทำการ : 08.00 – 17.00
แผนที่ : https://goo.gl/maps/PE7kML55gV72
คราวนี้เรามาดูกันว่า เส้นทางที่เราเที่ยวกันเป็นยังไงบ้าง บอกเลยว่า เป็นเส้นทางที่ขับรถเที่ยวได้ง่ายมาก และอยู่ในเส้นทางเส้นเดียวกัน โดยเริ่มต้นที่ ช่องเขาขาด และไปจบที่สุสานทหารสัมพันธมิตร เป็น One day trip ที่ทำได้ไม่ยาก ถืออีกเป็นหนึ่งเส้นทางที่น่าเที่ยวและได้เรียนรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นเป็นอย่างดี
นอกเหนือจากการได้พักผ่อนแล้ว การได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ก็เป็นสิ่งหนึงที่ได้จากการท่องเที่ยว และสิ่งที่อยากให้ได้ระลึกถึงอีกหนึ่งอย่างคือ ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรุ้ และไม่ทำผิดเหมือนที่ผ่านมา และสงคราม ไม่ได้ทำให้เกิดความสงบสุข และสุดท้ายสิ่งที่เหลือไว้คือรอยเลือดและคราบน้ำตา ขอบคุณสำหรับทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ