เคยคิดหรือไม่ว่า ถุงพลาสติก 1 ใบ / หลอดกาแฟ 1 ชิ้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในโลกนี้แค่ไหน ? จะเรียกว่า “เด็ดดอกไม้ กระเทือนถึงดวงดาว” ก็ยังได้ บางทีเราก็ไม่คิดหรอกว่า แค่การใช้ถุงพลาสติกในชีวิตประจำวันของเรา มันเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เราไม่หวังว่าคนที่อ่านบทความนี้แล้ว จะต้องเลิกใช้ถุงพลาสติก หรือภาชนะพลาสติกอย่างเด็ดขาด เพราะทุกวันนี้มองไปทางไหน ก็เห็นได้ทั่วไปหมด แต่เราเอง หลังจากที่ไปร่วมโครงการนี้และหาข้อมูลมาเขียน ทำให้คิดทุกครั้ง ที่จะซื้อจะใช้อะไรที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติก และหวังว่าจะทำให้ทุกคนที่ได้อ่าน ได้คิดเหมือนกันกับเรา
พลาสติกกับสัตว์ทะเล
คิดว่าหลายคน คงจะเคยได้เห็นภาพข่าวเหล่านี้จากในโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ต รูปที่นักอนุรักษ์พยายามเอาหลอดกาแฟออกจากจมูกของเต่าทะเล เห็นทั้งเลือดและการดิ้นรนของเต่า และสุดท้ายหลอดที่หลุดออกมามีความยาวอย่างไม่น่าเชื่อ หรือภาพของสัตว์ทะเลต่าง ๆ ที่มีขยะพลาสติกติดตัวจนทำให้ดำรงชีวิตไม่ได้ และตายเป็นซากอย่างเห็นได้ชัด

ภาพข่าวเต่าทะเลกับหลอดพลาสติก จากคลิปในเว็บ ของ The Washington Post – ดูคลิปได้ที่นี่
และอย่างข่าวที่ได้ยินแล้วรู้สึกแย่มาก ๆ คือภาพข่าวซีลาแคนท์ ปลาสายพันธุ์โบราณที่เก่าแก่ จนเรียกได้ว่าเป็น “ฟอสซิลที่มีชีวิต” ตายเป็นซาก และพบถุงขนมพลาสติกอยู่ในท้องปลาที่เป็นสาเหตุทำให้ปลาตาย ซึ่งปลาสายพันธุ์นี้ หลงเหลือจำนวนไม่มากแล้วในโลกนี้ (สายพันธุ์เดียวกัน สูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว) อ่านข่าว “ปลาซีลาแคนท์ตายเพราะถุงพลาสติกได้ที่นี่”
และถ้ายังเห็นภาพกันไม่ชัด เราอยากให้แวะไปดูรูปที่บทความนี้ โดยช่างภาพต่างประเทศ ที่จะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าสัตว์ทะเลได้รับผลกระทบยังไง You Will Want To Recycle Everything After Seeing These Photos!
ทุกวันนี้เราสร้างขยะพลาสติกกันมากน้อยแค่ไหน บางคนอาจจะบอกแค่ว่า “วันนึงซื้อของไม่กี่อย่างเอง” แต่นั่นคือแค่คนเดียว ลองคิดว่าแค่ประเทศเราประเทศเดียว แค่คนละ 1 ชิ้น ก็สร้างขยะเป็นล้านชิ้นแล้ว

ภาพที่ถ่ายจากถังขยะร้านสะดวกซื้อ ร้านนึงที่เราเห็นตอนช่วงเย็นวันหนึ่ง
และถ้ายังมองไม่เห็นภาพ เรามีภาพที่อธิบายง่าย ๆ เป็น Infographic ที่รวบรวมทำเป็นข้อมูลสถานการณ์ของขยะพลาสติกในทะเลในปัจจุบันมาให้ดูกัน
มันทำให้รู้ว่า ขยะพลาสติกที่เราทิ้งไป มันไม่ได้หนีไปได้เลย สุดท้ายมันก็เป็นวัฎจักรมาหาตัวเราอยู่ดี มันทำให้ทุกวันนี้ สุขภาพของเราแย่ลงเรื่อย ๆ สังเกตได้ว่าทุกวันนี้เราเจ็บป่วยกันง่ายขึ้น โรคก็รุนแรงมากขึ้น ทุกอย่างมันเกิดจากพวกเราทั้งนั้น
โครงการ “สายลับจับขยะ”
ด้วยการรวมตัวกันของนักดำน้ำสายอนุรักษ์ธรรมชาติ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำให้เกิดโครงการดี ๆ นี้ขึ้นมา
“Trash Hunter สายลับจับขยะ”
โครงการนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักดำน้ำ ได้มีส่วนร่วมช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยการเก็บขยะในทะเลเมื่อมีโอกาส โดยมีกระเป๋าตาข่ายสำหรับเก็บขยะให้กับนักดำน้ำได้ยืมใช้ตาม Dive center ต่าง ๆ ที่ร่วมกับโครงการ เพื่อให้ใช้เก็บขยะเวลาที่ดำน้ำ พอเก็บขยะแล้วนำมาส่งคืน พร้อมกับรับ “ตราประทับ” บน Logbook หรือ Diving Passport ซึ่งตราประทับนี้เอาไปใช้เป็นส่วนลดพิเศษ ในการดำน้ำครั้งต่อไป หรือทัวร์ดำน้ำในโครงการ
ครั้งนี้เราจะไปออกทริปกันที่เกาะเต่าครับ Dive site ที่สวยติดอันดับต้น ๆ ของไทย เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ทริปนี้เราออกเดินทางกันตอนเช้ามืด เพื่อมาขึ้นเรือที่ท่าเรือเร็วลมพระยาที่ชุมพร
มาดูตัวกระเป๋าตาข่ายสำหรับเก็บขยะกันดีกว่า หน้าตาก็จะเป็นอย่างในรูป จะเป็นกระเป๋าตาข่าย 2 ชั้น มีแบบถุงยาวสำหรับใส่ขยะขนาดใหญ่ เป็นชั้นข้างใน สามารถดึงออกมาใส่ขยะได้ ส่วนกระเป๋าชั้นนอกมีคลิปล็อก สำหรับใส่ขยะขนาดย่อม ๆ อย่างถุงพลาสติก

Logbook ของโครงการ ที่เป็นเหมือน Dive passport และข้อมูล Dive Center ที่ร่วมโครงการ
ก่อนที่จะไปทำกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น ทาง ททท. และผู้จัดโครงการ ก็ได้มาร่วมกันพูดคุยกันถึงที่มาที่ไปของโครงการฯ และผลของกิจกรรมในครั้งก่อน ๆ
Let’s Dive
วันนี้เมฆเยอะพอสมควร ฟ้าไม่เปิดเท่าไหร่ เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้วก็ไปลุยกันเลย
กระเป๋าเก็บขยะขณะใช้งานจริง ออกแบบให้ใช้งานได้ดีและไม่เกะกะเวลาใช้งาน มีสายคาดเอวและสายรัดขา ป้องกันการหลุดในขณะดำน้ำ (สารภาพว่า หลุดครั้งนึง โชคดีที่ติดสายรั้งขาไว้)
Dive site ที่เกาะเต่า มีจุดดำน้ำหลากหลายจุด ทั้งจุดดำน้ำหินใบ (Sail Rock), กองหินชุมพร (Chumphon pinnacle) และจุดดำน้ำอื่น ๆ อีกมากมาย
ที่นี่มีทั้งสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ ที่อาศัยสภาพแวดล้อมที่ยังสมบูรณ์ อยู่นี้เป็นที่พักพิง และอาศัยเติบโตตามธรรมชาติ ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมที่นี่ถึงเป็นที่นิยมของนักดำน้ำทั่วโลก
ที่นี่เราจะได้เห็นฝูงปลาน้อยใหญ่จำนวนมาก เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าทะเลที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เราสามารถได้เจอฝูงปลาสาก (Baracuda) ว่ายผ่านหน้า ได้ในระยะใกล้ ๆ หรือฝูงลูกปลาที่อาศัยปะการังในการระวังภัย
ปลาที่พบเห็นได้บ่อยตามปะการัง นอกจากพวกปลาการ์ตูนแล้ว ก็จะมีพวกปล่าเก๋านี่แหล่ะครับ เจอหลายตัวมาก นอนนิ่ง ๆ เหมือนนอนหลังคาปะการังก็หลายตัว มีตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ จนไปถึงตัวใหญ่ และบางตัวก็ตัวใหญ่มาก ขนาดพอ ๆ กับเด็กคนนึงเลย เป็นปลาในวงศ์ปลากะรัง ไม่อยากนึกภาพตอนมันกินอาหาร วูบเดียวหายแน่ ๆ
ปลาสิงโต เริ่มมีให้เห็นเพิ่มขึ้นบ้าง จากที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แต่ปลาสิงโตเป็นปลาสวยงามแต่มีพิษร้ายแรง ต้องมีความระมัดระวังในการชมด้วย และด้วยความที่มันมีพิษร้ายแรง จนแทบจะเป็นส่วนบนของห่วงโซ่อาหาร ทำให้ถ้ามีจำนวนมากเกินไปก็จะไม่ดี ในต่างประเทศ ถึงกับต้องยิงทิ้งกันเลย
ธรรมชาติใต้ท้องทะเล ถูกธรรมาชาติออกแบบให้อยู่กันอย่างสมดุล อย่างปลานกแก้ว ก็มีความจำเป็นมากสำหรับปะการัง เพราะถ้าไม่มีปลานกแก้ว หอยเม่นก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนไปรบกวนการเจริญเติบโตของปะการัง จนทำให้ปะการังตาย แล้วสุดท้าย ก็จะไม่มีสัตว์ทะเลหลงเหลืออยู่
ที่เห็นในรูปทั้งหมด นี่แค่ส่วนนึงที่เราได้เจอ ยังมีอีกหลายจุดที่สวยกว่านี้มาก แต่ถ้าได้ถามคนที่เคยดำน้ำมาก่อนหน้านี้ร่วม 20-30 ปี จะบอกเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า สมัยก่อน สวยงามกว่านี้เยอะมาก คิดแล้วก็ใจหายว่าถ้าเราไม่ใส่ใจ ไม่ดูแลรักษา อีก 20-30 ปีข้างหน้า จะหลงเหลืออะไรให้ได้ดูกันบ้าง
ใต้น้ำดูสมบูรณ์ดี….มีขยะมั้ย ?
จากตลอดทริปที่เราได้ดำน้ำที่เกาะเต่า ถือว่าที่นี่สมบูรณ์ดีมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีขยะใต้น้ำเลย ในส่วนของเราเองพบเจอทั้งหมด 7 ชิ้น มีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเหรียญบาท จนไปถึงถุงพลาสติกชิ้นใหญ่ (แต่เราไม่ได้ถ่ายมาทั้งหมดหรอกนะ) สำหรับเราแล้ว มองก็รู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่สำหรับสัตว์ทะเลแล้ว บางชิ้นมันดูไม่ต่างจากอาหารของพวกเค้า อย่างรูปที่เราถ่ายมาให้ดูเป็นตัวอย่าง
พลาสติกชิ้นนี้ เป็นเศษห่อแซนด์วิชที่เราติดมาถ่ายไว้เป็นตัวอย่าง (ไม่ต้องห่วง เราเก็บขึ้นมาทิ้งเรียบร้อย) ในตอนแรกมันอาจจะดูเป็นก้อนพลาสติก แต่ถ้ามันอยู่ในน้ำ มันอาจจะแผ่เป็นแผ่น ดูไม่ต่างจากแมงกระพรุนดี ๆ นี่เอง ซึ่งแมงกระพรุนนี่เองที่เป็นอาหารโปรดของเต่าทะเล จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เวลาเห็นข่าวเจอซากเต่าทะเลที่มีถุงพลาสติกเต็มท้อง

เศษพลาสติกที่ดูเหมือนแมงกระพรุน ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เต่าทะเลตาย เพราะคิดว่าเป็นอาหาร
ชิ้นนี้เป็นพลาสติกชิ้นใหญ่ ติดอยู่กับแส้ทะเล ซึ่งการเก็บ ต้องดูให้ดีว่า สภาพของพลาสติกยังดีอยู่หรือเปล่า ถ้าสภาพเปื่อยมาก ต้องค่อย ๆ ดึงไม่งั้นมันจะขาดรุ่ย และกลายเป็นเศษซากพลาสติกกระจายไปทั่ว

เศษถุงพลาสติกชิ้นใหญ่ ที่พบเจอติดกับแส้ทะเล
เศษฟรอยชิ้นเล็ก ๆ เหมือนจะเป็นห่อหมากฝรั่ง ขนาดเท่าเหรียญบาท ทำให้เกิดมลภาวะ เป็นโลหะหนัก และดูไกล ๆ ก็เหมือนเปลือกหอยชิ้นเล็ก ๆ สะท้องแสง

เศษขยะชิ้นเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้เกิดมลพิษทางทะเลได้ ดูแล้วเหมือนเปลือกหอยสะท้อนแสงเหมือนกัน
การเก็บขยะใต้น้ำ เป็นสิ่งที่ควรทำทุกครั้ง ถ้าพบเจอ แต่ก็มีข้อควรระวังเหมือนกัน คือถ้าเป็นขยะชิ้นใหญ่ และดูสภาพแล้วมีอายุค่อนข้างนาน ก่อนจะเก็นให้ดูให้ดีก่อนว่า มีสัตว์น้ำอาศัยเป็นที่อยู่หรือไม่ หรือว่าการเก็บจะทำให้ปะการังที่ขึ้นคลุมอยู่นั้นแตกหักเสียหายหรือไม่ ถ้าเสี่ยงก็ไม่ควรทำ อย่างเชือกหรือเอ็นจากแหถ้าเกี่ยวปะการังหนาแน่น ก็คงต้องยอมให้อยู่อย่างนั้น ทำได้แค่ตัดเก็บส่วนเกินออกมาเท่าที่ทำได้ นั่นคือการอนุรักษ์โดยที่ไม่ทำลายสิ่งที่มีอยู่เอาไว้….ช่วยกันเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ธรรมชาติสวย ๆ ได้อยู่กับเราไปนาน ๆ นะครับ
———- ขอบคุณครับ ———-
รายละเอียดโครงการ “Trash Hunter – สายลับจับขยะ” ดูรายละเอียดได้ที่นี่ครับ
https://www.utodive.com/diving-campaign